อย่างไร ? จึงเป็นเงินได้พึงประเมิน

อย่างไร ? จึงเป็นเงินได้พึงประเมิน



บริษัทนายจ้างทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้แก่พนักงาน มีปัญหาว่าบริษัทจะนำเงินที่จ่ายไปเป็นค่าเบี้ยประกันมาลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และพนักงานจะต้องนำค่าเบี้ยประกันดังกล่าว มารวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ถือเป็นสวัสดิการของพนักงานหรือไม่ ซึ่งการจะตอบคำถามดังกล่าวได้ต้องรู้จักความหมายของ “เงินได้พึงประเมิน” เสียก่อนแล้วจะตอบคำถามข้างต้นได้อย่างมั่นใจแน่นอน
“เงินได้พึงประเมิน” มีการกำหนดความหมายไว้ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดภาษีเงินได้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงิน หรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย

จากความหมายของ “เงินได้พึงประเมิน” ดังกล่าวจึงแยกลักษณะของเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับแล้วต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีดังนี้

1. เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภทตามมาตรา 40(1)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ทรัพย์สิน
3. ประโยชน์ที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
4. เครดิตเงินปันผล

ดังนั้น ผู้มีเงินได้รับเงินได้พึงประเมินในปีภาษีใดต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษีที่ได้รับ เว้นแต่ มีกฎหมายกำหนดให้เงินได้พึงประเมินใดได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ ซึ่งเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีกำหนดไว้ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร


จึงเห็นได้ว่า การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าเป็นการรับเงินเท่านั้น การได้รับทรัพย์สิน เช่น ทายรางวัลผลฟุตบอลโลกได้รางวัลเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ทีวี ตู้เย็น ก็ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย หรือได้รับประโยชน์ที่คำนวณได้เป็นเงิน เช่น ได้รับรางวัลให้ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศฟรี ก็ต้องนำประโยชน์ที่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศซึ่งแม้ไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองแม้แต่บาทเดียว ก็ต้องนำมูลค่าของประโยชน์ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้น จึงน่าจะตอบคำถามที่ตั้งไว้ข้างต้นได้ว่า การที่บริษัทนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพแทนพนักงานบริษัท จึงเท่ากับว่าพนักงานของบริษัทได้รับประโยชน์ที่คำนวณได้เป็นเงิน กล่าวคือ เงินค่าเบี้ยประกันที่บริษัทนายจ้างจ่ายไปก็จะนำมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานด้วย (เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายตามสวัสดิการของบริษัทนายจ้างหรือไม่ก็ตาม

ส่วนบริษัทนายจ้างจะลงเป็นรายจ่ายตามความผูกพันของบริษัทนายจ้างหรือไม่ ถ้าจ่ายตามระเบียบสวัสดิการของบริษัทที่ได้ผูกพันไว้ตามระเบียบก็ลงเป็นรายจ่ายได้ แต่ถ้าไม่ได้จ่ายตามระเบียบ ก็ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้นำมาลงเป็นรายจ่าย

อย่างไรก็ดี กรณีพนักงานหรือลูกจ้างที่นายจ้างได้ประกันสุขภาพกลุ่มให้พนักงานนั้น มีกฎหมาย ยกเว้นภาษี ให้พนักงานไม่ต้องนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพนั้นมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ตามข้อ 2(77) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126(พ.ศ. 2509 ) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ส่วนการประกันชีวิต นั้นพนักงานยังคงต้องนำเบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายมารวมคำนวณเป็นเงินได้ของตนเองเพื่อเสียภาษี ไม่มีกฎหมายยกเว้นภาษี ให้แต่อย่างใด

อบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 254
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์