• หน้าแรก

  • Blog

  • กฎหมาย/ภาษี

  • แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร

  • หน้าแรก

  • Blog

  • กฎหมาย/ภาษี

  • แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร



>>> คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 80/2542 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร

เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา86/10 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 (1) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

(3) ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว ได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(ก) มีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าเกินกว่าจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ข) มีการเพิ่มราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการเกินกว่าข้อกำหนดที่ตกลงกัน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ข้อ 2  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

(2) มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

(3) ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้วได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(ก) มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริงหรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ข) มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ค) ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

(ง) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อผูกพันในกฎหมาย

(จ) ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้าเงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า

(ฉ) มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน

(ช) มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร

(ซ) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากการให้บริการบกพร่องหรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน

(ฌ) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากไม่มีการให้บริการตามสัญญา

ข้อ 3  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1(3) หรือข้อ 2(3) เกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1(3) หรือข้อ 2(3) เกิดขึ้น ก็ให้ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า "ใบเพิ่มหนี้" หรือ "ใบลดหนี้" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้

(5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้นในกรณีของใบเพิ่มหนี้ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้นในกรณีของใบลดหนี้

(6) คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้

รายการตามวรรคสองจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้มูลค่าของสินค้าหรือบริการตามวรรคสอง (5) หมายความถึงมูลค่ารวมทั้งหมดตามใบกำกับภาษีที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มหนี้หรือลดหนี้ มูลค่ารวมทั้งหมดที่ถูกต้อง มูลค่ารวมทั้งหมดของส่วนต่าง และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มหรือใช้คืนสำหรับส่วนต่างสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ตามวรรคสอง (6) ให้แสดงเฉพาะสาเหตุและรายการสินค้าหรือบริการที่คลาดเคลื่อนเท่านั้น

ข้อ 4  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 และข้อ 2 สามารถออกใบเพิ่มหนี้ 1 ฉบับ หรือใบลดหนี้ 1 ฉบับ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีเดิมมากกว่า 1 ฉบับก็ได้ และรายการตามข้อ 3(5) หรือ (6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารแนบใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้อ้างถึงใบกำกับภาษีเป็นรายใบกำกับภาษีก็ได้

ข้อ 5  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นตามใบเพิ่มหนี้ไปลงรายงานภาษีขาย โดยถือเป็นภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ออกใบเพิ่มหนี้ และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ลดลงตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีขาย โดยนำไปหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ออกใบลดหนี้

           ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้จากผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่ง โดยได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ ให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบเพิ่มหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยถือเป็นภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบเพิ่มหนี้ หรือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยนำไปหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้

 ข้อ 6  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้วแต่กรณี ออกใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามข้อ 3 มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

           ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้จากผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเพิ่มหนี้ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร

 ข้อ 7  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก

สั่ง ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ  อธิบดีกรมสรรพากร

อบคุณบทความจาก :: กรมสรรพากร
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 362
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์