การชดเชยค่าภาษีอากร

การชดเชยค่าภาษีอากร



การชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร

คำจำกัดความที่สำคัญในการชดเชยค่าภาษีอากร

          คำว่า "สินค้า" หมายความว่า สินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร

          คำว่า "ผลิต" หมายความว่า ประกอบ แปรรูป แปรสภาพ หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้น ซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ

          คำว่า "การส่งสินค้าออก" หมายความว่า

                 (1) การส่งของออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

                 (2) การขายสินค้าให้แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรกำหนด

                 (3) การขายสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคที่ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ให้แก่องค์การระหว่างประเทศหรือหน่วยงานใดที่มีสิทธินำสินค้านั้นเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรกำหนด

          คำว่า "เงินชดเชย" หมายความว่า เงินที่จะจ่ายชดเชยค่าภาษีอากรซึ่งมีอยู่ในต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษีตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524

          คำว่า “บัตรภาษี” หมายความว่า บัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์

          คำว่า “บัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บัตรภาษีที่มีรูปแบบตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบ ลักษณะ ราคา และรายละเอียดของบัตรภาษี พ.ศ. 2564

          คำว่า "อัตราเงินชดเชยค่าภาษีอากร" หมายความว่า อัตราเงินชดเชยสำหรับชนิดและประเภทสินค้าที่จะได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามที่คณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          คำว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย” หมายความว่า ผู้ทำการส่งสินค้าออกตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524

ขั้นตอนการขอชดเชยค่าภาษีอากร

ผู้ประสงค์จะขอใช้สิทธิในการขอรับเงินชดเชยให้ปฏิบัติ ดังนี้

  1. ลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากร หรือดำเนินการในกระบวนทางศุลกากรตามประกาศ คำสั่ง หรือระเบียบที่กรมศุลกากรกำหนด ณ ส่วนทะเบียนสิทธิพิเศษ กองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร หรือฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานศุลกากร หรือด่านศุลกากร
  2. ลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย ตามคำร้องขอเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร แนบท้ายประกาศนี้ ณ ส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ในกรณีที่ประสงค์จะโอนสิทธิในบัตรภาษี ให้ผู้รับโอนลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยการลงทะเบียนให้ดำเนินการ ตามเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

              เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ผู้ส่งออก/ผู้รับโอนสามารถขอรับเอกสารแจ้ง เลขทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร (14 หลัก) ได้ ณ ส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เพื่อใช้เป็นเลขทะเบียนอ้างอิงในการรับเงินชดเชยและใช้เงินชดเชย ในการชำระค่าภาษีอากร

  1. ให้ผู้ส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ใช้สิทธิขอรับเงินชดเชยจัดทำข้อมูล ใบขนสินค้าขาออกตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด แล้วส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ของศุลกากร โดยในส่วนรายละเอียดของใบขนสินค้าขาออกแต่ละรายการ (Export Declaration Detail (Detail)) ในช่องการใช้สิทธิชดเชย (Compensation ) ต้องมีค่าเท่ากับ Y ช่อง Privilege Code ต้องเป็น 003 และให้ระบุเลขทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย (14 หลัก) ด้วย

 

  1.  ในกรณีสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรนำเข้าไปในเขตปลอดอากรหรือ เขตประกอบการเสรี เพื่อการจัดการในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ หรือรูปของสินค้า และประสงค์จะใช้สิทธิขอรับเงินชดเชย ให้ผู้ส่งออกปฏิบัติพิธีการศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติพิธีการนำของเข้าหรื         อปล่อยของออก การเก็บของ การขนถ่ายของ การตรวจตราและการควบคุมในเขตปลอดอากร หรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และพิธีการสำหรับเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรม ตามแต่กรณี และจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาออกตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด โดยต้องระบุเลขที่และวันที่ ของเอกสารแสดงรายละเอียดสินค้าที่ส่งออกลงในส่วน Export Declaration Detail ในช่อง Remark ของรายการสินค้าแต่ละรายการ

การยื่นขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร

ให้ผู้ที่ประสงค์ยื่นขอรับเงินชดเชยยื่นเอกสาร ดังนี้

  1.           คำร้องขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก ตามแบบ กศก. 20/1 แนบท้ายประกาศนี้ ณ ส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายในหนึ่งปีนับแต่ วันส่งออกพร้อมเอกสารประกอบที่ลงลายมือชื่อรับรองโดยผู้มีอำนาจกระทำการพร้อมประทับตรา (ถ้ามี) ดังนี้

                   1.1 แบบแสดงรายละเอียดของสินค้าที่ได้ส่งออกและขอรับเงินชดเชย ค่าภาษีอากร ตามแบบ กศก. ๒๐/๑ ก แนบท้ายประกาศนี้ ทั้งนี้ แบบแสดงรายละเอียดของสินค้า แต่ละชุดคำร้องขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร ให้มีจำนวนใบขนสินค้าขาออกไม่เกินสิบฉบับ ซึ่งเมื่อรวมรายการในใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับเข้าด้วยกันแล้ว ต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยรายการ ยกเว้นกรณีใบขนสินค้าขาออกฉบับใด มีมากกว่าหนึ่งร้อยรายการ ให้ยื่นขอรับเงินชดเชยเป็นหนึ่งชุดคำร้องขอ โดยให้แยกชุดคำร้องขอสำหรับใบขนสินค้าขาออกที่มีการส่งออกทางอากาศยานต่างหากจากชุดคำร้องขอที่ส่งออกทางอื่น

                   1.2 สำเนาบัญชีราคาสินค้า (Invoice)

               1.3 หลักฐานแสดงการรับชำระเงินค่าขายสินค้าส่งออก

                     1.3.1 กรณีชำระเงินผ่านธนาคาร ให้ยื่น Credit Note หรือ Credit Advice หรือหลักฐานการรับชำระเงินอื่น ๆ ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำหน้าที่เหมือนธนาคารพาณิชย์และเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวจะต้องมีชื่อผู้รับเงิน (ผู้ส่งออก) ชื่อผู้ซื้อ เลขที่บัญชีราคาสินค้า (Invoice ) และจำนวนเงินตราสกุลเงินต่างประเทศ หรือเงินตราสกุลเงินบาท หากจำนวนเงินในเอกสารดังกล่าว ชำระค่าสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าหลายฉบับ ให้ระบุจำนวนเงินที่ชำระแต่ละบัญชีราคาสินค้าให้ชัดเจน โดยเอกสารดังกล่าวให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ ชื่อ - สกุล ตำแหน่ง พร้อมประทับตรา (ถ้ามี)

                       1.3.2 กรณีที่มีการชำระเงินค่าขายสินค้าที่ส่งออกเป็นเงินสด ด้วยเงินตราไทยและ/หรือเงินตราต่างประเทศ ให้แนบหลักฐานแบบสำแดงเงินตราต่างประเทศ ที่ออกตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน แจ้งการนำเงินตราไทย และ/หรือเงินตราต่างประเทศเข้ามา พร้อมเอกสารนำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารของผู้ส่งออกโดยระบุเลขที่บัญชีราคาสินค้า (Invoice)

                     1.3.3 กรณีการรับชำระค่าสินค้าส่งออกโดยวิธีอื่น ให้ยื่นเอกสาร การรับชำระเงินพร้อมหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการรับชำระเงินค่าสินค้าส่งออกตามบัญชีราคาสินค้าที่ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยนั้น

               1.4 กรณีการส่งสินค้าออกทางอากาศยาน ให้ผู้ส่งออกแนบสำเนา ใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน (Air Waybill) ที่ระบุเลขที่บัญชีราคาสินค้า (Invoice) และเงื่อนไขการชำระค่าขนส่งสินค้า โดยมีผู้มีอำนาจกระทำการของบริษัทสายการบินลงลายมือชื่อรับรองและประทับตรา (ถ้ามี) กรณีที่ไม่มีการสำแดงค่าขนส่งสินค้าในใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน (Air Waybill) ให้แนบเอกสารการชำระค่าขนส่งสินค้าที่ระบุเลขที่บัญชีราคาสินค้า (Invoice)

               1.5 เอกสารหลักฐานอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาตามความจำเป็น

การคำนวณเงินชดเชย

  1. กรมศุลกากรจะใช้ราคา FOB สำหรับการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เปรียบเทียบราคา FOB กับมูลค่าการชำระค่าสินค้าที่เป็น FOB จากหลักฐานแสดงการได้รับชำระเงิน ค่าสินค้า จำนวนเงินใดต่ำกว่าให้ใช้จำนวนเงินนั้นเป็นฐานการคำนวณเงินชดเชย
  2.  เมื่อชุดคำร้องขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรพร้อมเอกสารประกอบได้ผ่าน การตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนและการคำนวณเงินชดเชยแล้ว ให้ผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชย รับต้นฉบับ ใบรับคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร ณ ส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงและตรวจสอบเงินชดเชยที่ได้รับ เมื่อถึงกำหนดวันรับบัตรภาษีตามที่ระบุไว้

                 กรณีเอกสารประกอบชุดคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้ผู้ขอรับเงินชดเชยแก้ไขความบกพร่องหรือยื่นเอกสารเพิ่มเติมตามรายละเอียดที่ได้รับแจ้งภายในระยะเวลาสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยไม่ดำเนินการภายในกำหนด กรมศุลกากรจะคืนชุดคำร้องขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรให้แก่ผู้ขอรับเงินชดเชย

              เว้นแต่กรณีเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนและการส่งออกนั้นครบกำหนดหนึ่งปี เจ้าหน้าที่จะออกใบรับคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และให้ผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยแก้ไขความบกพร่อง หรือยื่นเอกสารเพิ่มเติมตามรายละเอียดที่ได้รับแจ้ง ภายในระยะเวลาสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ออกใบรับคำร้องขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรนั้น หากผู้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะถือว่าผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524 และกรมศุลกากรมีอำนาจยกคำร้องขอรับเงินชดเชย ค่าภาษีอากรนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนและให้ถือว่าสิทธิในการขอรับเงินชดเชยนั้น สิ้นไปทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วแต่กรณี

การจ่ายเงินชดเชย       

          เมื่อชุดคำร้องขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรได้รับการอนุมัติแล้ว กรมศุลกากรจะจ่ายเงินชดเชยในรูปแบบบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยการตั้งวงเงินชดเชยตามจำนวนที่ได้รับการอนุมัติ ตามเลขทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร (14 หลัก) ที่ได้จากการลงทะเบียน แยกเป็นรายชุดคำขอ โดยผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยสามารถตรวจสอบรายละเอียดและวงเงินชดเชยคงเหลือ ได้ในระบบการติดตามสถานะการผ่านพิธีการศุลกากรทางอินเตอร์เน็ต ( e - Tracking )

การโอนสิทธิในบัตรภาษี

          ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยที่ประสงค์จะโอนสิทธิในบัตรภาษีไปให้แก่บุคคลอื่น ยื่นขออนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากร ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ดังนี้

  1. กรณีก่อนออกบัตรภาษี

              1.1 แสดงความจำนงในคำร้องขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับ สินค้าส่งออก (แบบ กศก. ๒๐/๑) โดยระบุชื่อผู้รับโอนลงในช่องว่างของบรรทัดที่มีข้อความ “ประสงค์จะโอนบัตรภาษีให้.................................” หากไม่ประสงค์จะโอนให้ระบุข้อความว่า “ไม่โอน” ยื่นต่อส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลง การโอนสิทธิในบัตรภาษีก่อนออกบัตรภาษี

              1.2 แนบคำร้องขอรับโอนสิทธิในบัตรภาษีตามแบบ กศก. ๒๒/๑ ที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจกระทำการตามหนังสือจดทะเบียนบริษัท ซึ่งออกโดย กระทรวงพาณิชย์และประทับตรา (ถ้ามี) ของผู้รับโอนและผู้โอน โดยระบุจำนวนเงินให้ตรงกับหรือไม่น้อยกว่ายอดเงินที่ขอชดเชย

  1.  กรณีหลังออกบัตรภาษี จะโอนสิทธิในบัตรภาษีแก่กันมิได้ เว้นแต่ ได้รับอนุมัติจากอธิบดี ในกรณีดังต่อไปนี้

              2.1 การโอนให้ทายาทผู้รับโอนกิจการของผู้มีชื่อในบัตรภาษี ซึ่งถึงแก่ความตาย

             2.2 การโอนให้ผู้ซึ่งรับโอนกิจการของผู้มีชื่อในบัตรภาษีมาดำเนินการต่อไป

             2.3 การโอนให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันเกิดจากการควบเข้ากันระหว่างนิติบุคคลผู้มีชื่อในบัตรภาษีและนิติบุคคลอื่น

              2.4 การโอนให้แก่บุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของผู้มีชื่อในบัตรภาษี ในกรณีนี้อธิบดีกรมศุลกากรจะอนุมัติได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร

             การโอนตามข้อ 2.1 ผู้รับโอนต้องยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิ พร้อมเอกสารที่แสดง ความเป็นทายาทผู้รับโอนกิจการของผู้มีชื่อในบัตรภาษีซึ่งถึงแก่ความตาย ณ ส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายในอายุของบัตรที่กำหนดไว้ในบัตรภาษีเดิม หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้มีชื่อในบัตรภาษีถึงแก่ความตายแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง

              กรณีการโอนตามข้อ 2.2 ข้อ 2.3 และข้อ 2.4 ผู้รับโอนต้องยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิในบัตรภาษี (แบบ กศก. 22/1) ที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจกระทำการตามหนังสือจดทะเบียน บริษัทซึ่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์และประทับตรา (ถ้ามี) ของผู้รับโอนและผู้โอน ณ ส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายในอายุบัตรที่กำหนดไว้ในบัตรภาษีเดิม เว้นแต่ ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นสมควรจะผ่อนผันให้ขอเปลี่ยนบัตรภาษีใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บัตรภาษีหมดอายุก็ได้

             บัตรภาษีที่ออกให้ใหม่มีอายุการใช้เท่ากับบัตรภาษีเดิมและต่ออายุได้

การต่ออายุบัตรภาษี

         บัตรภาษีมีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกบัตร หากผู้ได้รับบัตรภาษีไม่สามารถนำบัตรภาษี ไปใช้ประโยชน์ได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สามารถยื่นขอต่ออายุได้คราวละสามปี ไม่เกินสองคราว โดยให้ยื่นคำร้องขอต่ออายุบัตรภาษี (แบบ กศก. 24) ณ ส่วนชดเชยค่าภาษีอากร กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ก่อนบัตรภาษีหมดอายุ

การเปลี่ยนบัตรภาษีเดิมเป็นบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์

         เมื่อกรมศุลกากรตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของข้อมูลบัตรภาษีที่ปรากฏอยู่ในระบบชดเชยอากร (Compensation) ของผู้มีชื่อในบัตรภาษีเรียบร้อยแล้ว กรมศุลกากรจะเปลี่ยนบัตรภาษีของผู้มีชื่อในบัตรภาษีจำนวนดังกล่าวเป็นบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงกำหนดแบบ ลักษณะ ราคา และรายละเอียดของบัตรภาษี พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับ และแจ้งให้ผู้มีชื่อในบัตรภาษีทราบ และเมื่อกรมศุลกากรได้ดำเนินการเปลี่ยนบัตรภาษีของผู้มีชื่อในบัตรภาษีเป็นบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์แล้ว บัตรภาษีที่ออกให้ก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ จะไม่สามารถนำไปชำระค่าภาษีอากรได้

          บัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้ใหม่ มีราคาและอายุเพียงเท่าที่มีอยู่ในบัตรภาษีเดิม

สินค้าส่งออกที่ถูกส่งกลับคืนหรือการส่งสินค้าคืน

  1.  กรณีที่สินค้าส่งออกถูกส่งกลับคืนมาและต้องคืนเงินค่าสินค้านั้นให้แก่ผู้ซื้อ โดยที่สินค้าดังกล่าวได้ใช้สิทธิขอรับเงินชดเชยไปแล้ว ผู้ใช้สิทธิชดเชยต้องคืนเงินชดเชยเป็นจำนวนตามส่วนของสินค้าที่มีการส่งกลับนั้น ให้กรมศุลกากรภายในหกสิบวันนับแต่วันที่นำสินค้ากลับเข้ามา
  2.  ถ้าผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยมิได้คืนเงินชดเชยภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของเงินชดเชยที่ต้องคืน จนกว่าจะคืนเงินชดเชยครบถ้วน เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน
  3.  การคืนเงินชดเชย ตลอดถึงกรณีจะต้องชำระเงินเพิ่ม จะชำระด้วยเงินสด เช็ค บัตรเดบิต/เครดิต หรือบัตรภาษี หรือชำระผ่านธนาคารหรือตัวแทนรับชำระ (Bill Payment) ก็ได้

ขอบคุณบทความจาก :: กรมสรรพากร
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 365
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์