บริจาคอย่างไร ไม่เสีย VAT

บริจาคอย่างไร ไม่เสีย VAT


การบริจาคไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือสิ่งของจำเป็นนับเป็นบุญ บุญก็เป็นที่มาของความสุขใจทุกครั้งที่นึกถึง แต่ชื่อเรื่องคงทำให้ท่านผู้อ่านตั้งคำถามว่าทำบุญบริจาคยังต้องเสียภาษีด้วยหรือ ถ้าอย่างนั้นงดทำบุญดีกว่าเพราะเสียภาษีจากเงินได้ตั้งเยอะแล้ว ก็ขออย่าคิดเช่นนั้นเพราะจริง ๆ แล้ว การเสียภาษีของเราก็คือการทำบุญวิธีหนึ่ง เพื่อให้ประเทศชาติได้เจริญก้าวหน้า ได้ช่วยผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คิดอย่างนั้นแล้วก็จะมีความสุขกับการเสียภาษีได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดี การบริจาคมีความเกี่ยวข้องกับภาษีโดยเฉพาะในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ ก็ยังคงต้องศึกษาทำความเขาใจกันให้ดี มิฉะนั้น การบริจาคจะนำมาซึ่งความทุกข์และขุ่นเคืองใจเสียเปล่า ๆ

เหตุการณ์การบริจาคต้องไปเกี่ยวข้องภาษี เพราะว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจัดเก็บจากกิจกรรมขายสินค้า และกฎหมายก็กำหนดให้ทรัพย์สินทุกอย่างไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการใด ถือเป็น “สินค้า” (มาตรา 77/1(9) แห่งมาตราประมวลรัษฎากร) และการ “ขาย” ก็คือ การจำหน่าย จ่าย โอน สินค้า มาตรา 77/(8) แห่งแห่งมาตราประมวลรัษฎากร) ดังนั้น การบริจาคซึ่งเป็นการโอนอย่างหนึ่ง จึงถือเป็นการขาย

ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ท่านอย่าเพิ่งตกใจไปว่า แล้วที่เราบริจาคเงินไป 10 ล้าน ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะถูกเรียกเก็บย้อนหลังหรือไม่ เพราะ “เงิน” ไม่ใช่สินค้าในระบบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะฉะนั้นสบายใจได้ บริจาคได้อีก 20 ล้าน !!!!

ถ้าอย่างนั้น บริจาค “อะไร” จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คำตอบก็คือบริจาค “สินค้า” เช่นคอมพิวเตอร์ รถยนต์ เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากถือเป็นการขายสินค้าอย่างหนึ่ง คำถามต่อมาคือบริจาค “อย่างไร” จึงจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คำตอบคือ ท่านที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (หมายถึงบุคคลที่ขายสินค้าให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ)เป็นผู้บริจาคสินค้า จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  เพราะฉะนั้นหากท่านไม่ได้เป็นผู้ประกอบพิจารณาขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ท่านก็จะไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะฉะนั้นสบายใจได้ บริจาคได้อีก 2 คันรถเช่นกัน !!!!!!

ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ประกอบการในระบบกฎหมายก็ได้กำหนดทางเลือกในการบริจาคสินค้าแล้วไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 ผู้ประกอบการบริจาคสินค้าแล้วจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริจาคให้แก่

      (ก) สถานพยาบาลของทางราชการ
      (ข) สถานศึกษาของทางราชการ 
      (ค) องค์การหรือสถานสาธารณกุศลสถานพยาบาล และสถานศึกษาอื่นนอกจาก (ข)

     ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดฯ สามารถดูรายชื่อได้ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ ซึ่งเป็นรายชื่อองค์กรเช่นเดียวกับที่บุคคลธรรมดาได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ (มาตรา 3(4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239 ) พ.ศ.2534)

กรณีที่ 2 ผู้ประกอบการบริจาคสินค้าแล้วไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าที่บริจาคมารวมประมูลค่าของฐานภาษี (ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเสีย) ได้แก่

      (ก) การบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติลักษณะทำนองเดียวกัน
      (ข) การบริจาคทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (ข้อ 2(19)(20) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับ40)ฯ)

  ก็ขออนุโมทนากับท่านทั้งหลายที่มีใจเป็นบุญ บริจาคเงิน สิ่งของ เสื้อผ้า เพื่อช่วยเหลือผู้คนในสังคม แบ่งปันความสุขเอื้อเฟื้อสิ่งจำเป็นอันอาจมากเกิน (สำหรับเรา) ให้แก่ผู้ที่มีน้อยกว่าลดช่องว่างความมีและความจน สังคมจึงจะน่าอยู่และร่มเย็นอย่างที่ฝัน


อบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 249
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์