คืนสินค้าอย่างไร จึงจะต้องออกใบลดหนี้

คืนสินค้าอย่างไร จึงจะต้องออกใบลดหนี้




ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อขายสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีทันทีเมื่อส่งมอบสินค้า และยื่นรายการขายสินค้าดังกล่าวในแบบ ภ.พ.30 ของเดือนที่ส่งมอบสินค้า ตามมาตรา 86 และมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับผู้ซื้อสินค้าถ้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บมาถือเป็นภาษีซื้อของตนเอง และนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หากไม่ใช่ภาษีซื้อต้องห้ามตามกฎหมาย

การขายสินค้าโดยมีการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อไปแล้ว ถ้าต่อมาปรากฏว่าผู้ซื้อสินค้าได้คืนสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้านั้น ตามกฎหมายแล้วการคืนสินค้าดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ถ้าเป็นการคืนสินค้าด้วยเหตุดังต่อไปนี้

   1.ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมา เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา

  2.ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้คืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้ากับผู้ขายสินค้า

  3.ผู้ซื้อสินค้าได้คืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้า ตามข้อตกลงทางการค้ากับผู้ขายสินค้าเฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร

    เมื่อมีเหตุการณ์อันเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าต้องออกใบลดหนี้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ขายสินค้าจะต้องออกใบลดหนี้ในเดือนที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น (เดือนที่ได้รับคืนสินค้า) กรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกได้ ก็ให้ออกในเดือนถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร และ ผู้ขายสินค้าก็มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีขายของตนเองในเดือนที่ออกใบลดหนี้ สำหรับ ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏในใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อของตนเองในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้ ทั้งนี้ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร

    การได้รับคืนสินค้าที่เป็นเหตุอันจะทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าต้องออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หากเป็นการคืนสินค้าด้วยเหตุอื่น ผู้ขายสินค้าก็ไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้แต่อย่างใด (ถ้าออกใบลดหนี้โดยไม่มีเหตุการณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ถือเป็นการออกใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิซึ่งมีความรับผิดทั้งทางอาญาและต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า)

          ตัวอย่าง บริษัท ก. จำกัด ขายสินค้าให้ลูกค้าผู้ซื้อสินค้าโดยให้ลูกค้าผ่อนชำระค่าสินค้า ปรากฏว่าผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระค่าสินค้าได้จนครบถ้วน ผู้ขายกับผู้ซื้อจึงตกลงกันว่าให้ผู้ซื้อส่งคืนสินค้าที่ไม่สามารถผ่อนชำระต่อไปได้ให้แก่ผู้ขาย การคืนสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้าที่ได้ตกลงกันไว้ แต่เป็นการผิดสัญญาและตกลงกันระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อเพื่อบังคับชำระหนี้ จึงไม่ใช่เหตุการณ์ในการออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 

 การได้รับคืนสินค้านอกจากจะต้องเป็นไปตามเหตุการณ์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ต้องเป็นการได้รับคืนสินค้าตามความเป็นจริง กล่าวคือผู้ขายสินค้าต้องรับคืนสินค้าและรับสินค้าที่คืนเข้าสต็อคจริง ถ้าเป็นการคืนสินค้าแต่ในทางเอกสารซึ่งไม่มีการรับคืนสินค้ากันในทางข้อเท็จจริง  การคืนสินค้าดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าผู้ขายสินค้าได้รับคืนสินค้าจึงไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้    

    สรุปได้ว่าการคืนสินค้าที่จะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ต้องเป็นการคืนสินค้าเฉพาะที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น  และจะต้องเกิดขึ้นจริงเพราะไม่สามารถอ้างเหตุการณ์ใดๆ  เพื่อเป็นเหตุให้ออกใบลดหนี้ได้ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม...

อบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 146
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์