ภาษีบำรุงท้องที่

ภาษีบำรุงท้องที่




1.ความรู้ทั่วไป

1.1  ที่ดินที่ต้องเสีย
ภาษีที่ดินที่ต้องเสียภาษีได้แก่  พื้นที่ดินรวมไปถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ำด้วย           
1.2   ที่ดินที่ไม่ต้องเสียภาษี 
                      
(1)  ที่ดินที่เป็นที่ตั้งพระราชวังอันเป็นส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน                       
(2)  ที่ดินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ หรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์                       
(3)  ที่ดินของราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้ในกิจการของราชการส่วนท้องถิ่นหรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์ 
(4)  ที่ดินที่ใช้เฉพาะการพยาบาลสาธารณะ  การศึกษา  หรือการกุศลสาธารณะ                       
(5)  ที่ดินที่ใช้เฉพาะศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไม่ว่าจะใช้ประกอบศาสนกิจศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือไม่   หรือที่ศาลเจ้าโดยมิได้หาผลประโยชน์                       
(6)  ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ  โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน                       
(7)  ที่ดินที่ใช้ในการรถไฟ  การประปา  การไฟฟ้า  หรือการท่าเรือของรัฐ  หรือที่ใช้เป็นสนามบินของรัฐ                       
(8)  ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว                       
(9) ที่ดินของเอกชนเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ดินยินยอมให้ทางราชการจัดใช้เพื่อสาธารณประโยชน์โดย เจ้าของที่ดินมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในที่ดินเฉพาะส่วนนั้น 
(10)  ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ  ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น  ในเมื่อประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นตามอนุสัญญาหรือความตกลง                       
(11)  ที่ดินที่เป็นที่ตั้งที่ทำการของสถานทูต  หรือสถานกงสุล  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน                       
(12)  ที่ดินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

1.3  ผู้มีหน้าที่เสียภาษี
            ผู้มีหน้าที่เสียภาษี  คือ เจ้าของที่ดิน  ซึ่งเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน  หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนเช่น  ผู้เช่าที่ดินของรัฐ
1.4   ฐานภาษีและอัตราภาษี
            ฐานภาษีคือ  ราคาปานกลางที่ดินที่คณะกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งได้กำหนดขึ้น ปกติให้เสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติ  ที่ดินที่ใช้ประกอบกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา
แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเองให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ 5 บาท และที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดินให้เสียเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า

2.ขั้นตอนการยื่นเสียภาษี

            การยื่นแบบพิมพ์ให้เจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปีนั้นและยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน.บ.ท.5) ต่อเจ้าพนักงานประเมิน  ณ  สำนักงานเขตที่ที่ดินตั้งอยู่
2.1   กำหนดระยะเวลาให้ยื่นแบบแสดงรายการ
1) ในปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดินให้เจ้าของที่ดินหรือผู้แทนยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.5)   ภายในเดือนมกราคมของปี  และให้ใช้ได้ทุกปีในรอบระยะเวลาสี่ปีนั้น (ปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2545 - 2548)
2)  บุคคลใดเป็นเจ้าของที่ดินขึ้นใหม่  หรือจำนวนเนื้อที่ดินเดิมของเจ้าของที่ดินผู้ใดได้เปลี่ยนแปลงไปหรือเจ้าของที่ดินผู้ใดได้เปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอันเป็นเหตุให้มีการลดหย่อนที่ดินเปลี่ยนแปลงไป หรือมีเหตุอย่างอื่นทำให้
อัตราภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินเปลี่ยนแปลงไปให้เจ้าของที่ดินผู้นั้นแจ้งเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ
2.2  เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ
กรณีที่ดินรายใหม่  หรือปีที่มีการตีราคาปานกลาง  ให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบเสียภาษีภายในเดือนมกราคมของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดินหรือทุกรอบระยะเวลา 4 ปี  หรือภายใน 30 วัน กรณีที่ได้กรรมสิทธิ์ใหม่หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ โดยยื่นแบบ ภ.บ.ท.5 พร้อมสำเนาหลักฐานประกอบการพิจารณา ได้แก่

-  โฉนดที่ดิน
-   สำเนาทะเบียนบ้าน
-   บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ/บัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
-   กรณีเจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
 -   หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย)
-   ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย (ถ้ามี)

กรณีที่ดินรายเก่า  ให้เจ้าของที่ดินชำระเงินค่าภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี  และเพื่อความสะดวก  รวดเร็วในการติดต่อ  โปรดนำใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้ายมาแสดงด้วย
2.3  การขอลดหย่อนภาษี
บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันและใช้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของตน  เป็นที่เลี้ยงสัตว์ของตน  หรือประกอบกสิกรรมของตนให้ลดหย่อนไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

-   ที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร  ให้ลดหย่อนได้  ดังนี้

     (ก)   ในท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นมาก  ให้ลดหย่อนหนึ่งร้อยตารางวา
     (ข)   ในท้องที่ที่มีชุมชนหนาแน่นปานกลาง  ให้ลดหย่อนหนึ่งไร่
     (ค)   ในท้องที่ชนบท  ให้ลดหย่อนห้าไร่

     ทั้งนี้  ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครท้องที่ใดจะเป็นท้องที่ตาม  (ก)  (ข)  หรือ (ค)  ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง และใช้สิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นสถานการค้าหรือให้เช่าไม่ได้รับการลดหย่อนสำหรับ
ส่วนของที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานการค้าหรือให้เช่านั้นในกรณีที่บุคคลธรรมดาหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน  ให้ได้รับการลดหย่อนรวมกันตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งการลดหย่อนตามหลักเกณฑ์ในมาตรานี้  ให้ได้รับการลดหย่อนสำหรับที่ดินที่อยู่ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งแต่จังหวัดเดียวที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูก  ถ้าในปีล่วงมาแล้วการเพาะปลูกในบริเวณนั้นเสียหายมากผิดปกติ  หรือทำการเพาะปลูกไม่ได้ด้วยเหตุอันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) มี
อำนาจพิจารณายกเว้นหรือลดภาษีบำรุงท้องที่ให้ได้ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดที่ดินที่ใช้เป็นสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ  โดยรับประโยชน์ตอบแทน  อาจได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

2.4   เงินเพิ่ม
            ให้เจ้าของที่ดินเสียเงินเพิ่มนอกจากเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ในกรณีและอัตราดังนี้

(1)    ไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่  เว้นแต่กรณีที่เจ้าของที่ดินได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินจะได้แจ้งให้ทราบถึง
การละเว้นนั้น  ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่
(2)    ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของภาษีบำรุงท้องที่ประเมินเพิ่มเติม  เว้นแต่กรณีที่เจ้าของที่ดินได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการ
ที่ดินให้ถูกต้องก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน
(3)   ชี้เขตแจ้งจำนวนเนื้อที่ดินไม่ถูกต้องต่อเจ้าพนักงานสำรวจ โดยทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง  ให้เสียเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของภาษีบำรุงท้องที่ที่ประเมินเพิ่มเติม
(4)   ไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนด  ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละยี่สิบสี่ต่อปีของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่  เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน  ทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตาม (1)  (2)  หรือ (3) มาคำนวณเพื่อเสียเงิน
เพิ่มตาม (4)  ด้วยเงินเพิ่มให้ถือว่าเป็นภาษีบำรุงท้องที่
2.5  การชำระภาษี

(1)  ในปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดิน  ให้ยื่นหลักฐานการแจ้งการประเมิน (ภ.บ.ท.9) พร้อมชำระเงินภายในเดือนเมษายน กรณีได้รับแจ้งการประเมินหลังเดือนมีนาคมให้ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
(2)   กรณีอื่น ๆ ให้ชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี
2.6  การขอผ่อนชำระภาษี
ถ้าภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องชำระมีจำนวนตั้งแต่สามพันบาทขึ้นไป  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะขอผ่อนชำระเป็นสามงวด งวดละเท่า ๆ กันก็ได้  โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษี  และให้ชำระงวดที่
หนึ่งก่อนครบกำหนดเวลาชำระภาษี  งวดที่สองภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง  งวดที่สามภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง
2.7  การขอคืนเงินค่าภาษี
ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล ให้มีการลดจำนวนเงินที่ได้ประเมินไว้ให้แจ้งผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบโดยเร็ว เพื่อมาขอรับเงินคืนโดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง  ผู้ใดเสียภาษีบำรุงท้อง
ที่โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสียผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืนโดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้เสียภาษี
2.8  การเร่งรัดภาษีค้างชำระ
ภาษีบำรุงท้องที่จำนวนใดที่เจ้าพนักงานประเมิน ได้แจ้งหรือประกาศการประเมินแล้วถ้ามิได้ชำระภายในเวลาที่กำหนด  ให้ถือเป็นภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ  ซึ่งทรัพย์สินของผู้ค้างชำระ  อาจถูกยึด  อายัดหรือขายทอดตลาด  เพื่อนำเงินมาชำระภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ
2.9  การอุทธรณ์
เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ 2 กรณี  คือกรณีไม่เห็นพ้องด้วยกับราคาปานกลางของที่ดิน  และกรณีที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่แล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องการยื่นอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  โดยยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่เห็นพ้องด้วยกับการตีราคาปานกลางของที่ดินที่คณะกรรมการตีราคาปานกลางของที่ดินได้พิจารณากำหนดไว้ตามประกาศ  เจ้าของที่ดินมีสิทธิอุทธรณ์การตีราคาปานกลางของที่ดินได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้มีการประกาศราคาปานกลางของที่ดิน
(2)  ในกรณีที่เจ้าของที่ดินได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่แล้วหากเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องก็สามารถอุทธรณ์การประเมินได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินทั้ง 2 กรณีดังกล่าวนี้ให้อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  โดยยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ  สำนักงานเขตท้องที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามที่เจ้าของที่ดินยื่นมาแล้วแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และเจ้าพนักงานประเมิน  และผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยกอุทธรณ์ด้วยเหตุที่ผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกหรือไม่ยอมให้ถ้อยคำโดยไม่มีเหตุอันสมควรการอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีบำรุงท้องที่  เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล ดังนั้นแม้จะยื่นอุทธรณ์เจ้าของที่ดินก็ต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  หากผลการอุทธรณ์จะต้องคืนเงินภาษีบำรุงท้องที่ก็ยื่นคำร้องขอรับเงินคืนได้
2.10  บทกำหนดโทษ
(1)  ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ให้ถ้อยคำเท็จ   ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ  หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีบำรุงท้องที่  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2)   ผู้ใดจงใจไม่มาหรือไม่ยอมชี้เขตหรือไม่ยอมแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือ
ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(3)   ผู้ใดขัดขวางเจ้าพนักงาน  ซึ่งปฏิบัติการตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้เข้าไปทำการสำรวจที่ดินหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดจำนวนเนื้อที่ที่ดินในการยื่นแบบแสดงรายการที่ดินแทนเจ้าของที่ดิน หรือผู้ใดขัดขวาง  นายอำเภอ  หรือ
นายกเทศมนตรี  ในการปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ  โดยกระทำการเพื่อไม่ให้นายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องแก่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่  ภายหลังจากที่เจ้าของที่ดินหรือบุคคลที่
เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของนายอำเภอหรือนายกฯเพื่อมาให้ถ้อยคำ  หรือส่งบัญชี  หรือเอกสารมาตรวจสอบ  และในกรณีเจ้าของที่ดิน  หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ทำตามคำสั่งที่ให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัด
ภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระ  หรือผู้ใดขัดขวาง  เจ้าพนักงานประเมินในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องแก่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ของผู้มีหน้าที่เสียภาษี  ในเวลากลางวันหรือเวลาทำการ  เพื่อสอบถามบุคคล ตรวจสอบ ตรวจค้นบัญชี
หรือเอกสาร  หรือยึด  อายัดบัญชี  หรือเอกสาร  เพื่อให้ทราบว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติหรือไม่ผู้ใดขัดขวางกรณีดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
(4)  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งนายอำเภอหรือนายกเทศมนตรี  ในการปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระซึ่งได้ให้เจ้าของที่ดินหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ  หรือส่งบัญชี  หรือเอกสารมาตรวจสอบ  หรือเจ้าของที่ดินหรือบุคคลที่
เกี่ยวข้องฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น  เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่หรือผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่มีหนังสือสั่งให้ผู้มีหน้าที่ที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง  มาให้ถ้อยคำหรือส่งบัญชีหรือเอกสารมาตรวจสอบ
หรือผู้อุทธรณ์หรือบุคคลใดๆ ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด  ที่มีหนังสือเรียกเพื่อมาให้    ถ้อยคำหรือส่งเอกสารอันควรแก่เรื่องมาแสดงในการพิจารณาอุทธรณ์ผู้ใดฝ่าฝืนต่อคำสั่งกรณีดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
(5)   ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้  ถ้านายอำเภอ  หรือนายกเทศมนตรี  แล้วแต่กรณีเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุก  ให้มีอำนาจเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับได้  เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่นายอำเภอหรือนายกเทศมนตรีกำหนดภายในสามสิบวัน  คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาดถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ  หรือเมื่อยินยอมแล้ว ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ให้ดำเนินคดีต่อไปหมายเหตุ  ในที่นี้นายอำเภอ  หมายถึง  ผู้อำนวยการเขต , นายกเทศมนตรี  หมายถึง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538  มาตรา  50 มาตรา  69



ขอบคุณบทความจาก :: พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 140
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์