• หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/2511 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน

เลขที่หนังสือ กค 0702/2511 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน

  • หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/2511 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน

เลขที่หนังสือ กค 0702/2511 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน

เลขที่หนังสือ : กค 0702/2511
วันที่ : 10 พฤษภาคม 2566
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 690) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 695) ข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ
ข้อหารือ : บริษัทได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามส่วนเฉลี่ยของรายจ่ายที่จ่ายเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 ถึงปี 2563 สำหรับการลงทุนเครื่องมือเพื่อใช้ผลิตรถยนต์ทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรเพื่อการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 และใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามส่วนเฉลี่ยของรายจ่ายที่จ่ายเป็นเวลา 4 รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2560 ถึงปี 2563 สำหรับการลงทุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ผลิตรถยนต์ทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ต่อมาบริษัทได้รับอนุมัติบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บัตรส่งเสริมฯ) สำหรับกิจการผลิตรถยนต์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 บริษัทได้ลงทุนจัดหาทรัพย์สินอื่น ๆ ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศในปี 2562 โดยในส่วนของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรได้มีนำเข้าจากต่างประเทศ และเริ่มใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามที่ระบุในบัตรส่งเสริมฯ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 และได้เริ่มใช้งานพร้อมกับหักค่าเสื่อมราคาในวันที่ 17 มกราคม 2565 บริษัทได้หารือ ดังนี้
  1. กรณีทรัพย์สินที่บริษัทฯได้ลงทุนจัดหาและได้นำเงินได้ที่ได้จ่ายไปไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 ถึงปี 2563 และในรอบระยะเวลาบัญชีต่อ ๆ มา บริษัทได้นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฯ จะถือว่าบริษัทปฏิบัติผิดเงื่อนไขและต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิไปแล้ว หรือไม่ อย่างไร
  2. กรณีทรัพย์สินที่บริษัทได้ลงทุนจัดหาและได้นำเงินได้ที่ได้จ่ายไปไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 เป็นเวลา 4 รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2560 ถึงปี 2563 ต่อมาในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2564 บริษัทไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 แต่ได้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้ในกิจการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฯ จะถือว่าบริษัทปฏิบัติผิดเงื่อนไขและต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิไปแล้ว หรือไม่ อย่างไร
  3. กรณีบริษัทได้ลงทุนจัดหาทรัพย์สินเพื่อใช้ในกิจการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฯ โดยได้จ่ายรายจ่ายเพื่อการลงทุนไปในปี 2562 และได้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามบัตรส่งเสริมฯ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 บริษัทจึงไม่อาจใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2560 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 690) พ.ศ. 2563 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563 ใช่หรือไม่ อย่างไร
  4. กรณีทรัพย์สินใดที่ไม่ได้ใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ทั่วไปภายใต้การส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฯ บริษัทสามารถนำรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินนั้น ๆ ไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย : กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 หรือพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 แล้วแต่กรณี และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สิ้นสุดลงนั้น การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะต้องกระทำในรอบระยะเวลาบัญชีที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกำหนดให้นำเงินได้ที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ โดยให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามจำนวนรอบระยะเวลาบัญชีที่กำหนดของทรัพย์สินแต่ละประเภทและต่อเนื่องกัน และให้เริ่มใช้สิทธิตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ดังนั้น
  1. กรณีที่บริษัทได้นำเงินได้ที่ได้จ่ายไปจริงเพื่อลงทุนในทรัพย์สินประเภทที่กำหนดให้ใช้สิทธิยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ประกอบข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เริ่มตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 ถึงปี 2563 และเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 บริษัทได้รับบัตรส่งเสริมฯ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปีนับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริมฯ คือตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2564 เป็นต้นไป บริษัทจึงยังคงได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
  2. กรณีที่บริษัทได้ลงทุนทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และได้นำเงินได้ที่ได้จ่ายไปไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ต่อเนื่องแล้วแต่ยังไม่ครบตามจำนวนรอบระยะเวลาบัญชีที่กำหนดไว้สำหรับทรัพย์สินแต่ละประเภทตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ประกอบข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 และบริษัทได้นำทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกล่าวไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2564 ถือว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้นำทรัพย์สินไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาจึงสิ้นสุดลง บริษัทจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
  3. กรณีที่บริษัทซื้อและนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 หากไม่ปรากฏว่า เครื่องจักรดังกล่าวเกิดจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 บริษัทไม่สามารถนำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อซื้อเครื่องจักรดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 และเนื่องจากเครื่องจักรดังกล่าวบริษัทได้จัดหามาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามบัตรส่งเสริมฯ เพื่อใช้ในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน บริษัทจึงไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 690) พ.ศ. 2563 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563
  4. กรณีทรัพย์สินใดที่บริษัทไม่ได้ใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรส่งเสริมฯ บริษัทสามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 หากเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560


ขอบคุณบทความจาก ::กรมสรรพากร
 152
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์