ขนส่งกับเช่ารถยนต์ ภาษีต่างกันอย่างไร

ขนส่งกับเช่ารถยนต์ ภาษีต่างกันอย่างไร


ขนส่งกับเช่ารถยนต์ ไม่ใช่แค่สะกดต่างกันเท่านั้น (นะ)

  หลักเกณฑ์การเสียภาษีที่สร้างความงุนงงปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้ที่จ่ายเงินเรื่องหนึ่งก็คือ รถเช่า กับ รถขนส่ง ก็เพราะถ้าผู้จ่ายเงินเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เวลาจ่ายค่าเช่าต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 (ข้อ 6 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ)  แต่หากจ่ายค่าขนส่งจะหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 (ข้อ 12/4  ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ) และค่าขนส่งยังได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 81 (1) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากร) อีกต่างหาก ส่วนค่าเช่ารถยนต์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักเกณฑ์ทั่วไปไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นเมื่อถูกเรียกเก็บค่าเช่ารถ ถ้าผู้ให้เช่ารถเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยแล้วก็จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จากค่าเช่าอีก



จะเห็นได้ว่าภาระภาษีสำหรับค่าขนส่งกับค่าเช่ารถต่างกันค่อนข้างมากทำให้มีปัญหาเวลาจ่ายเงินเกี่ยวกับรถยนต์ที่ได้รับการบริการจากบุคคลอื่นกรณีที่ถกเถียงกันมากว่าขนส่งกับรถ ต่างกันตรงไหน เบื้องต้นจึงขอแนะนำให้ดูจากลักษณะของสัญญาที่คู่สัญญาได้ตกลงให้บริการต่อกันซึ่งจะสามารถแยกแยะความแตกต่างได้ดังนี้

  1. การให้เช่ารถยนต์ ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนการขนส่งโดยรถยนต์ ผู้รับขนส่งได้ครอบครองรถยนต์อยู่ตลอดเวลา ผู้ว่าจ้างขนส่งต้องการสิ่งที่จะได้รับจากผู้ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของข้อตกลงหรือสัญญาก็คือจะต้องขนส่งคนหรือสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางก็เป็นอันสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยผู้ว่าจ้างไม่ได้สิทธิครอบครองรถยนต์แต่อย่างใด

   ตัวอย่างที่ 1 บริษัท ก. จำกัด ต้องการรถตู้ 1 คัน เพื่อให้พนักงานไปสัมมานาที่ต่างจังหวัดในเช้าวันเสาร์และกลับเย็นวันอาทิตย์ โดยตกลงให้รถตู้ไปส่งพนักงานในเช้าวันเสาร์ แล้วจะกลับหรือไปที่อื่นใดไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ก. แต่รถตู้ต้องกลับมารับพนักงานกลับในตอนเย็นวันอาทิตย์ กรณีนี้จะเห็นว่ารถตู้ต้องไปส่งและกลับเท่านั่น จึงถือเป็นการขนส่ง

   ตัวอย่างที่ 2 บริษัท ข. จำกัด ต้องการรถตู้ 1 คัน เพื่อให้ไปส่งพนักงานไปตรวจงานต่างจังหวัด โดยรถตู้จะต้องรอพนักงานในระหว่างที่ตรวจงานและหากเดินทางไปที่ต่างๆ ก็สามารถเรียกใช้รถตู้ดังกล่าวได้ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงกำหนดกลับรถตู้ต้องรอพนักงานของบริษัท ข. จะเห็นได้ว่าในระหว่างที่รถตู้ต้องรอพนักงานของบริษัท ข. การครอบครองรถตู้อยู่ที่บริษัท ข. เพราะสามารถเรียกใช้งานได้ตลอดเวลา กรณีนี้ถือเป็นการเช่า

   ดังนั้น กรณีการเช่าเหมารถตู้ให้ไปกับผู้เช่าเป็นเวลา 3 วัน 2 คือ โดยรถตู้จะต้องรอและไปกับผู้เช่าตลอดช่วงเวลา ถือเป็นการเช่าไม่ใช่ขนส่ง ดังนั้นการเช่ารถหรือการขนส่งจึงขึ้งอยู่ที่ข้อตกลงและเอกสารหลักฐานที่จะต้องตามมาไม่ว่าจะเป็นใบแจ้งหนี้ หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ใบกำกับภาษี (กรณีเช่ารถ) ก็ควรระบุให้ชัดเจนตามลักษณะของข้อตกลงว่าเป็นค่าขนส่งหรือเป็นค่าเช่ารถเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารของเจ้าพนักงานประเมิน

  2. การเช่ารถบางกรณี ผู้เช่าได้ตกลงให้ผู้ให้เช่ารถจัดหาคนขับรถมาให้ด้วยและแยกเรียกเก็บค่าบริการต่างหาก ส่วนการขนส่งโดยปกติผู้รับขนส่งต้องจัดหาคนขับรถมาด้วย ถ้าบอกว่าเป็นการรับขนส่งแต่ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้หาคนขับรถเองอาจถูกมองว่าเป็นการให้เช่าเพราะผู้ใช้รถได้ครอบครองรถยนต์

  3. การเรียกเก็บเงินกรณีค่าเช่ารถ อาจเรียกเก็บเป็นค่าเช่ารถแยกต่างหากจากค่าบริการคนขับรถ ถ้าเก็บค่าเช่ากับค่าบริการคนขับรถรวมกันก็เป็นค่าเช่ารถทั้งจำนวน ส่วนการเรียกเก็บค่าขนส่งต้องเก็บเป็นยอดเดียวเพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับขนส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

   จากความแตกต่างที่กล่าวมาข้างต้น คงจะพอมองออกว่าเมื่อใดจ่ายเป็นค่าเช่ารถ เมื่อใดจ่ายเป็นค่าขนส่ง จะได้หักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างถูกต้อง ซึ่งผู้จ่ายเงินหลายรายหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 สำหรับการเช่ารถไปเลยเพื่อตัดปัญหา แต่จะมีปัญหาตามมาภายหลังถ้าจะต้องแก้ไขเปลี่ยนเป็นหักภาษีอัตราร้อยละ 1 เพราะพิจารณาแล้วว่าเป็นการขนส่ง ก็จะต้องตอบหรือชี้แจ้งเจ้าพนักงานประเมินที่ตรวจสอบให้ได้แถมผู้ที่ถูกหักไปแล้ว 5% จะกลับมาเรียกร้องเงินส่วนเกินในภายหลังหรือไม่อย่างไรก็ต้องตามแก้ปัญหากันอีก ดังนั้นถ้าจะให้ดีไม่มีปัญหา ก็ควรต้องศึกษาหลักเกณฑ์ทำความเข้าใจแล้วทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรกก็จะดีที่สุด

อบคุณบทความจาก :: www.rd.go.th
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 620
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์