• หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือกค 0702/7026 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของพนักงานธนาคารออมสินที่เสียชีวิต

เลขที่หนังสือกค 0702/7026 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของพนักงานธนาคารออมสินที่เสียชีวิต

  • หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือกค 0702/7026 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของพนักงานธนาคารออมสินที่เสียชีวิต

เลขที่หนังสือกค 0702/7026 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของพนักงานธนาคารออมสินที่เสียชีวิต

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7026
วันที่ : 10 กันยายน 2561

เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของพนักงานธนาคารออมสินที่เสียชีวิต

ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 (1) มาตรา 50 ทวิ และมาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 258 (พ.ศ.2549)ฯ

ข้อหารือ           นางสาว ก. หารือประเด็นปัญหาการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของพนักงาน ธนาคารฯ ที่เสียชีวิต ราย (นาง ส.ผู้ตาย) โดย นางสาว ก. เห็นว่า ที่กรมสรรพากรมีคำวินิจฉัยว่า บำเหน็จตกทอดซึ่งจะได้รับการยกเว้น จะต้องเป็นการจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ประกอบกับระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการขอรับและการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2527 หรือทายาทของข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เท่านั้น เป็นการไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งบัญญัติให้ “เงินที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และพนักงานธนาคารออมสินได้รับ โดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ทั้งในประมวลรัษฎากรไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า บำเหน็จตกทอดไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น การหักภาษี ณ ที่จ่ายของธนาคารฯ จากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมแก่ทายาท

แนววินิจฉัย           1.กรณีธนาคารฯ จ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของพนักงานธนาคารฯ ผู้ตาย ของระเบียบธนาคารฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นบำเหน็จตกทอด อันจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (12) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว จะต้องเป็นการจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ประกอบกับระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการขอรับและการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2527 หรือทายาทของข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เท่านั้น
          2. กรณีธนาคารฯ จ่ายเงินบําเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของพนักงานธนาคารฯ ผู้ตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตายเนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตายขณะที่ถึงแก่ความตาย แต่บําเหน็จตกทอดที่ธนาคารฯ ได้จ่ายไปเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ตาย ธนาคารฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ในนามของผู้ตาย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยทายาทของผู้ตาย มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเงินได้พึงประเมินดังกล่าวของผู้ตาย ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ. 2549)ฯ เป็นการกําหนดเงินที่มีลักษณะเดียวกับ บําเหน็จดํารงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญ ข้าราชการ โดยมีอัตราและวิธีการคํานวณเช่นเดียวกับบําเหน็จดํารงชีพ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่นเดียวกัน จึงไม่เกี่ยวกับบําเหน็จตกทอดที่ให้แก่ทายาท

เลขตู้ : 81/40797


ขอบคุณบทความจาก ::https://www.rd.go.th
 1204
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์